ความถูกต้อง

เหตุผลของความถูกต้องหนึ่ง ๆ เมื่อมองในระดับปัจเจกบุคคลแล้วเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดสินได้ง่าย ๆ เพราะประสบการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน
ไม่เช่นนั้น วิถีแห่งประชาธิปไตยคงไม่เกิดขึ้น มันเป็นวิธีการที่ง่ายและสั้นที่สุดแล้วที่จะคลำหาความถูกต้องจากวิธีตัดสินด้วยคนส่วนใหญ่
ผลออกมาอย่างไร ถ้าใจเรากว้างพอก็ควรที่จะต้องยอมรับ

กลับมาที่ความถูกต้องระดับปัจเจกบุคคล การดูตนเองน่าจะง่ายกว่า มันควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ คือตนเองที่สามารถพิจารณาสิ่งถูกต้องให้ได้เสียก่อน
วิธีง่าย ๆ ที่จะตัดสินความถูกต้องได้ก็คือให้ตัดความคิดส่วนเกินออกไปก่อน เรื่องของคนอื่น เกิดที่อื่น ข่าวหรืออะไรก็ตามที่ฟังมาจากที่อื่นไม่ได้เห็นเอง รู้เอง ควรตัดความคิดนั้นออกไปเสีย
แล้วถามตัวเองว่า ถ้าไม่นับเหตุผลที่มาจากแหล่งส่วนเกินเหล่านั้นแล้ว “เรายังมีความสุขอยู่หรือไม่ พอใจอยู่หรือเปล่า”
ถ้าพอจะตอบตัวเองได้ว่าใช่ สิ่งนั้น ๆ ก็น่าจะตัดสินได้ว่าถูกต้องแล้วสำหรับเรา

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

โลกของคุณเคลื่อนจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย ขึ้นกับว่าชนชาติของเราออกแบบหนังสือพลิกหน้าจากหน้าไหนไปไหน
เรากำหนดให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทางด้านขวามือเราแล้วบอกว่าโลกหมุนจากซ้ายไปขวาก็เพราะเราสมมติขั้วโลกเหนือกับใต้ขึ้นมาก่อน
ถ้าเราหันหัวโลกกลับลงดวงอาทิตย์ก็อาจขึ้นทางซ้ายมือก็ได้
โลกนี้เป็นโลกแห่งสมมติแท้ ๆ ไม่มีอะไรที่ไม่สัมพัทธ์กับอะไรเลย ถ้าสิ่งหนึ่งไม่สัมพัทธ์กับอะไรมันก็จะถูกนิยามไม่ได้เลย
เพราะสีขาวไม่ใช่สีขาว มันจึงเป็นสีขาว
เพราะความว่างไม่ใช่ความว่าง มันจึงเป็นความว่าง
เพราะความแน่นอนไม่ใช่ความแน่นอน มันจึงแน่นอน

จุดเปลี่ยนชีวิตยุคใหม่

หนึ่งปัจจัยง่าย ๆ (แต่อาจไม่ง่ายมาก) ที่สามารถกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้ดีขึ้นหรือพบแสงสว่างได้ ถ้าได้ลองทำให้สำเร็จหรือได้พบเจอ อาจจะเพียงแค่ข้อเดียวก็พอ

1. เรียนให้จบสัก 1 ปริญญา
2. ยึดหลักในศาสนาสัก 1 บท
3. ใบขับขี่พร้อมรถสัก 1 คัน
4. กัลยาณมิตรสัก 1 คน
5. ครูดี ๆ สัก 1 ท่าน
6. การท่องเที่ยวดี ๆ สัก 1 หน
7. คู่ชีวิตดี ๆ สัก 1 คน
8. บวชแทนคุณคนสัก 1 ครา
9. อ่านหนังสือให้จบสัก 1 เล่ม
10. พูดเขียนให้ได้อีก 1 ภาษา
11. หาวิชาที่รักสัก 1 วิชา
12 ศึกษาคอมพิวเตอร์สัก 1 โปรแกรม

การเคลื่อนที่

เรากำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางใดกันแน่
เมื่อการเคลื่อนที่จำเป็นต้องอาศัยจุดสัมพัทธ์หนึ่ง ๆ
ถ้าเรายืนอยู่ที่จุด A จะเดินไปที่จุด B ในระยะเวลา 1 วัน
ถ้าเทียบกับขั้วโลกเหนือ เราก็คงกำลังเดินบนแผนที่ด้วยตำแหน่งตัดของเส้นรุ้งแวง 2 จุด
ถ้าเทียบกับแกนกลางโลก เมื่อโลกโคจรรอบตัวเอง เราก็คงเคลื่อนที่เป็นวงกลมเบ้ ๆ เล็กน้อย เมื่อเทียบกับจุด A
ถ้าเทียบกับดวงอาทิตย์ เราก็คงเคลื่อนที่เหมือนเส้นขดสปริงไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ เมื่อเทียบกับจุด A กับโลกและกับดวงอาทิตย์
ถ้าเทียบกับศูนย์กลางกาแลคซี่ทางช้างเผือก เราก็คงเคลื่อนที่ตามขดสปริงของขดสปริงไปรอบ ๆ กาแลคซี่ เมื่อเทียบกับจุด A กับโลก กับดวงอาทิตย์ และกับแกนกลางกาแลคซี่ทางช้างเผือก
แล้วกาแลคซี่ทางชางเผือกเคลื่อนที่รอบอะไร…แล้วไอ้อันนั้นของอันนั้น ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เคลื่อนที่รอบอะไร
มันคงไร้สาระถ้าจะเที่ยวติดตามลักษณะการเคลื่อนที่ของเราเองกับจุด A ไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
แล้วด้วยความไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้ มันเป็นไปได้ใช่ไหมถ้าจะบอกว่าเราอาจจะอยู่ที่จุด A (ที่เดิม) ตลอดเวลาตั้งแต่แรกและก็ไม่ได้เดินไปที่จุด B ด้วย
เราสามารถบอกเช่นนั้นได้โดยไม่ผิด..ใช่ไหม
เรากำลังเคลื่อนที่จริงหรือ?
ถ้าเราคิดถึงจุด A ที่อยู่บนพื้นดิน เราก็คงหลอกตัวเองได้ยากว่าเราไม่ได้เคลื่อนที่
แต่ถ้าเราลองคิดถึงจุด A ในอวกาศ เราอาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
อะไรหลอกเรา
เวลาใช่หรือไม่
ที่ที่เราตั้งใจจะเดินไป เมื่อเดินไปถึง มันก็เป็นคนละที่กับที่ที่เราตั้งใจจะเดินไปแต่แรกแล้ว
หรือในความหมายเดียวกัน
มันเป็นที่ที่เดียวกันและเราก็ไม่ได้เดินไปไหนเลย…